ถ้าหากจะเอ่ยถึงกองหน้าที่เป็นเบอร์ 9 ขนานแท้สักคน คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เอ่ยถึง “เพชฌฆาตพรายกระซิบ” มาร์โก้ ฟาน บาสเท่น สุดยอดกองหน้าตำนานทีมชาติฮอลแลนด์ ในช่วงยุคปลาย 80
ฟาน บาสเท่น คือปรากฏการณ์และเป็นแบบอย่างของดาวยิงยุคใหม่ในเวลานั้นอย่างแท้จริง เขาคือกองหน้าตัวเป้าที่เป็นแม่พิมพ์ของดาวยิงทุกคนในสมัยนั้น เขาคือตัวตายตัวแทนของ โยฮัน ครัฟฟ์ ในสโมสร อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม และทีมชาติฮอลแลนด์ได้ทันการพอดี เขาสร้างสิ่งแปลกใหม่ และแตกต่างให้กับสโมสรและทีมชาติ ถึงแม้ว่าเขาจะโดดเด่นในเรื่องการสร้างสรรค์เกม สู่ดาวยิงรุ่นพี่ระดับตำนานของโลกอย่าง “ครัฟฟ์” ไม่ได้ แต่สถิติการทำประตูของ ฟานบาสเท่น นั้นเขาไม่ได้เป็นรองดาวเตะเทวดาแต่อย่างใด
ตอนอายุ 17 ปี เขายิง 13 ลูก, อายุ 18 ปี เขายิง 22 ลูก, อายุ 19 ปี ยิง 29 ลูก สถิติการยิงประตูของ ฟานบาสเท่น ร้อนแรงไม่หยุด จนกระทั่งในปีสุดท้ายกับ อาแจ็กซ์ ฤดูกาล 1986 – 87 ฟานบาสเท่น ยิง 36 ประตูในลีกให้ อาแจ็คซ์ และทำให้เขาได้รับรางวัลรองเท้าทองคำยุโรป ก่อนเขาออกจากสโมสรเพื่อไปค้าแข้งในอิตาลี กับ เอซี มิลาน ในปีต่อมา และในระยะเวลา 6 ปีที่ อาแจ็กซ์ เขายิงได้ 128 ประตูจาก 133 เกม ทำให้เขาคว้าแชมป์ลีกได้ 3 ปีติดต่อกัน รวมถึงแชมป์ ยูฟ่า คัพ วินเนอร์สคัพ อีกด้วย
ปีแรกในอิตาลี กับ มิลาน เขาเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก อาการบาดเจ็บเล่นงานเขาบ่อยครั้ง จนทำให้ความต่อเนื่องในการลงสนามขาดหายไป เขาลงเล่นได้เพียง 11 เกมในลีก และทำได้ 8 ประตู ก่อนจะได้รับบาดเจ็บหนัก และต้องได้รับการผ่าตัดที่ข้อเท้าครั้งใหญ่
เพราะหลังจากจบฤดูกาล 1987 – 88 มีศึกสำคัญอย่าง ยูโร 1988 รออยู่ และ ฮอลแลนด์ต้องการศูนย์หน้าตัวจบสกอร์อย่างเขา เพื่อให้ได้ทีมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ด้วยเหตุนี้ทำให้ทีมชาติฮอลแลนด์ และ เอซี มิลาน ต้องประสานความร่วมมือเพื่อช่วยให้การพักฟื้นของดาวยิงตัวเก่งของพวกเขากลับมาฟิตสมบูรณ์ที่สุด อีกครั้ง
มิลาน ไม่ใช้งานเขาอีกเลยในฤดูกาลนั้น และ ฮอลแลนด์ ต้องหนีบเพชรฆาตรพรายกระซิบรายนี้ติดทีมไปด้วยทั้ง ๆ ที่ยังไม่ฟิต 100% เกมรอบแบ่งกลุ่ม ฟานบาสเท่นลงเล่นเป็นตัวสำรองใน 2 เกมแรก ก่อนที่เกมสุดท้ายนัดชี้ชะตากับทีมชาติอังกฤษ เขาต้องลงเป็นตัวจริง เพราะทีมชาติของเขาต้องการชัยชนะเพื่อเข้ารอบต่อไป และเขาก็ไม่ทำให้แฟนบอลในชาติผิดหวัง เขาหวดไปคนเดียว 3 เม็ด เป็นแฮตทริกฮีโร่ให้ทีมชนะอังกฤษ 3 – 1 และเป็นเกมสำคัญมากที่ทำให้อัศวินสีส้ม เข้ารอบน็อกเอาต์สำเร็จ
หลังจากนั้นก็เหมือนเป็นเทพนิยายที่สร้างให้ ฟานบาสเท่น เป็นตัวเอก เพราะความสามารถชั้นดีในการจบสกอร์ของเขา ทำให้ไม่มีทีมชาติใดที่สามารถหยุดทัพสีส้มได้อีกแล้ว เขาพาฮอลแลนด์ คว้าแชมป์ยูโร 1988 และนั่นเป็นถ้วยแชมป์เดียวในระดับนานาชาติของพวกเขา และเป็นถ้วยที่แม้แต่ โยฮัน ครัฟฟ์ ตำนานเบอร์ 1 ของชาติก็ยังทำไม่ได้ นี่คือปีทอง เพราะหลังจากทัวร์นาเมนต์จบลง ฟานบาสเท่น ก็คว้ารางวัลบัลลงดอร์ ด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างขาดลอย
นั่นคือจุดพีคสุดและจุดพีคเดียวของเขา เพราะหลังจากนั้นเขาก็ไม่สามารถปีนไปในระดับที่สูงแบบนั้นได้อีก เขาลงสนามทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังไม่สมบูรณ์ 100% เขาต้องแบกรับอาการบาดเจ็บและรักษาตัวตลอด 2 ปี (1993-1995) เขาไม่ได้ลงเล่นเลยแม้แต่เกมเดียว สุดท้ายเขาเลือกที่จะประกาศแขวนสตั๊ดในวัยเพียง อายุแค่ 28 ปีเท่านั้น
277 ประตู จากการลงเล่น 373 นัด อาจเป็นค่าที่สูงมากสำหรับนักเตะหลายคน แต่นั่นไม่ถือว่าเป็นตัวเลขที่มากเลยหากเทียบกับเพชรฆาตรพรายกระซิบรายนี้